วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ป่าไม้


การอนุรักษ์ป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทย ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคง และถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่าย และประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ประการสำคัญนั้น มีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้ โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชน ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นจะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง นับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริหลายประการ เป็นต้นว่า
1.  พระราชดำริ เรื่อง การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกด้วยการเลือกที่ที่เหมาะสม ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว เพียงแต่คุ้มครองไม่ให้ใครไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เท่านั้นเอง ส่วนป่าเต็งรังป่าที่เสื่อมโทรม ไม่ต้องทำอะไร เพราะตอไม้จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ว่าต้นไม่สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้ ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่าในที่สูง โดยใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลาย ขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมา แล้วงอกเองในที่ต่ำ ต่อไปเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ รวมทั้งทรงแนะนำให้ปลูกป่าต้นน้ำลำธารหรือการปลูกป่าธรรมชาติ ด้วยการศึกษาว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้าง แล้วปลูกแซมหรือทดแทนตามชนิดของต้นไม้ที่ได้ศึกษามา และให้งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ ไม่นำไม้แปลกแปลมต่างพันธุ์ ต่างถิ่นเข้ามาปลูก หากยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างแน่ชัดเสียก่อน เพื่อให้การปลูกป่าธรรมชาติเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์
2.   พระราชดำริ เรื่อง การปลูกป่าทดแทน
การปลูกป่าทดแทน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการ เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน ด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติ โดยได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทน ตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ ซึ่งได้แก่การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม นอกจากนี้ทรงแนะนำให้ปลูกป่าทดแทนไหล่เขา การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง เนื่องจากสภาพป่าบนที่เขาสูงทรุดโทรม จะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่าง การปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำหรือเหนืออ่างเก็บน้ำ การปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำ การปลูกป่าโดยให้ราษฎรในท้องถิ่นนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต รวมทั้งการปลูกป่าเสริมสร้างชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า ซึ่งขณะนี้โครงการที่เป็นการปลูกป่าทดแทนตามแนวพระราชดำริ ได้บรรลุผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง
3.   พระราชดำริ เรื่อง การปลูกป่าในเชิงผสมผสาน
การปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งในด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมในลักษณะของป่า 3 อย่าง โดยมีพระราชดำรัสว่าป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง และป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการปลูกป่า 3 อย่างนี้ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อย่างที่ 4 ซึ่งเป็นข้อมูล คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย ซึ่งส่วนราชการต่างๆ ได้นำไปดำเนินการเป็นการสนองพระราชดำริ โดยได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็ว สำหรับตัดกิ่งนำมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรม ซึ่งการปลูกป่า   3 อย่าง ตามพระราชดำรินี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าไม้แล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ราษฎรและเป็นผลดีทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย พระปรัชญาที่ชาญฉลาดแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ยังประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง
4.   พระราชดำริ เรื่อง การป้องกันไฟป่าระยะยาว
การป้องกันไฟป่าระยะยาว และทรงตระหนักว่าการทำไม้ป่าเปียก หรือมีความชุ่มชื้นตลอดเวลาจะทำให้ไฟป่าเกิดขึ้นได้ยาก หรือเกิดขึ้นก็ไม่ลุกลามไปมาก โดยเหตุนี้พระราชดำริป่าเปียก ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างแนวป้องกันไฟจึงได้เกิดขึ้น ด้วยการใช้แนวคลองส่งน้ำ และแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองเป็นการป้องกันไฟป่า การสร้างระบบควบคุมไฟป่า โดยอาศัยน้ำชลประทาน และน้ำฝน การปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้น และแผ่ขยายออกไป การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือ    ลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ การสูบน้ำขึ้นในระดับสูงแล้วปล่อยให้ไหลลงมา รวมทั้ง การปลูกต้นกล้วย ซึ่งอุ้มน้ำได้มากกว่าพืชอื่นๆ เป็นแนวป้องกันไฟป่า ซึ่งแนวพระราชดำริ ป่าเปียกนี้จะทำให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีความชุ่มชื้น ไฟป่าจึงเกิดได้ยาก นับเป็นพระราชดำริในการป้องกันไฟไหม้ป่าที่เรียบง่าย แต่ได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามหาศาล
5.   พระราชดำริ เรื่อง การสร้างภูเขาป่า
การสร้างภูเขาป่า ยังเป็นอีกพระราชดำริหนึ่งที่พระราชทานแนวคิดอันเป็นทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ โดยมีพระราชดำรัสว่า ควรสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการพิจารณา สร้างฝายขนาดเล็กปิดกันร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธาร เพื่อแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปให้กว้างขวาง จะช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้น บริเวณดังกล่าวจะได้กลายเป็นภูเขาป่าในอนาคต นอกจากนี้ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมว่า หากไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ในบริเวณภูเขาเสื่อมโทรม ให้พิจารณาส่งน้ำขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำลงไปหล่อเลี้ยงกล้าไม้อ่อนที่ปลูกทดแทนไว้บนภูเขาได้ตลอดเวลา โดยจะต้องพยายามสูบน้ำขึ้นไปทีละขั้น จนถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยพิจารณาใช้เครื่องสูบน้ำธรรมชาติ ซึ่งได้แก่พลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังงานลมที่มีใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันภูเขาป่ามีปรากฏ ให้เห็นในหลายแห่งทั่วทุกภาคของประเทศ นับได้ว่าการสร้างภูเขาป่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวิธีการธรรมชาติที่เรียบง่าย แต่ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้นเป็นอย่างมาก
6.   พระราชดำริ เรื่อง น้ำ คือสิ่งที่ทำให้ป่าไม้อยู่รอด
ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการฟื้นฟูป่าไม้ในหลายรูปแบบ แต่ถ้าหากขาดน้ำแล้วป่าจะสมบูรณ์ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ ซึ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของน้ำในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงเพื่อเก็บกักน้ำ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลเทลงไปยังบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดิน และน้ำที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง สำหรับรูปแบบ และของฝายกั้นน้ำ ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นแบบทั้งหินคลุมด้วยตาข่าย      ปิดกั้นร่องน้ำ กับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ และดักตะกอนดินและทรายไว้ในบางส่วน      ซึ่งน้ำที่เก็บกักไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้มีความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง แล้วปลูกพันธุ์ไม้        ตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่ม ส่วนประเภทของฝายกั้นน้ำ ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น กับฝายดักตะกอน เพื่อป้องกัน มิให้ดินทรายไหลเทลงไปยังลุ่มน้ำตอนล่าง
                เกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และลักษณะของฝายจะต้องให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากพอสมควร เพื่อให้มีปริมาณน้ำพอเพียงที่จะหล่อเลี้ยงกล้าไม้และต้นไม้ในช่วงหน้าแล้ง
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับการจากฝายกั้นน้ำตามพระราชดำรินี้จะช่วยลดการพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้มีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ ทำให้ความหนาแน่นของ พันธุ์พืชมีมากขึ้น และการที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้นี้ ทำให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ฝายกั้นน้ำจึงนับเป็นพระราชดำริที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ที่ยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกร ทุกหมู่เหล่าอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น